Tito; Broz, Josip (1892–1980)

ตีโต; นายยอซีป บรอซ (พ.ศ. ๒๔๓๕–๒๕๒๓)

 ตีโต หรือชื่อเดิม ยอซีป บรอซ เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย ค.ศ. ๑๙๓๗–๑๙๘๐ และประธานาธิบดียูโกสลาเวีย ค.ศ. ๑๙๕๓–๑๙๘๐ เขามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ยูโกสลาเวียซึ่งเป็นประเทศที่แตกแยกและมีประชากรที่ประกอบด้วยชนชาติที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์รวมเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่นจนมีสถานะเข้มแข็งและเป็นอิสระจากการควบคุมของสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศและการปกครองระหว่างตีโตกับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มีส่วนทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์สากลที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำสั่นคลอน สตาลินจึงใช้องค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* หรือสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau) เป็นเครื่องมือต่อต้านตีโตและพวกคอมมิวนิสต์ที่นิยมตีโต ความแตกแยกตีโต-สตาลิน (Tito-Stalin Split)* จึงนำไปสู่การปราบปรามกวาดล้างคอมมิวนิสต์สายตีโตเป็นจำนวนมากในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ซึ่งดำรงตำแหน่งสืบต่อจากสตาลินเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ สหภาพโซเวียตได้ปรับความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย และประธานาธิบดีตีโตได้ขอให้สหภาพโซเวียตยุบองค์การโคมินฟอร์มลง

 ตีโตเกิดในครอบครัวชาวนาฐานะปานกลางเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ ที่หมู่บ้านคุมโรเวตซ์ (Kumrovec) จังหวัดซาโกเรีย (Zagorje) โครเอเชียซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* ฟรันโย บรอซ (Franjo Broz) บิดามีเชื้อสายโครแอตเป็นคนมีระเบียบวินัยและทำงานหนักในที่ดิน ๒๕ ไร่ของตนเอง ส่วนมารีอา (Marija) มารดามาจากแคว้นสโลวีเนีย (Slovenia) ในออสเตรีย เธอเป็นคนเคร่งศาสนาและใฝ่รู้จึงต้องการให้บุตรทุกคนมีโอกาสเรียนหนังสือเท่าที่จะสนับสนุนได้ตีโตเป็นบุตรคนที่ ๗ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๕ คน แต่เสียชีวิตในวัยเยาว์ไป ๖ คน และเขาสนิทกับแม่มาก ในวัยเยาว์ตีโตเป็นเด็กขี้โรค ผอมกะหร่อง ร่างเล็ก เขาถูกส่งไปอยู่กับตาที่สโลวีเนียตั้งแต่เล็กเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว และกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ขณะอายุ ๘ ปีเขาต้องช่วยทำงานบ้านและในไร่นา แม้จะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนของหมู่บ้านแต่ก็ขาดเรียนบ่อยเพราะต้องช่วยบิดาทำงานในไร่เมื่ออายุ ๑๒ ปี เขาไม่มีโอกาสเรียนต่อชั้นมัธยมเพราะยากจนและต้องทำงานจุนเจือครอบครัว อย่างไรก็ตาม เขาไปเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่โบสถ์คาทอลิกและได้เป็นเด็กช่วยประกอบพิธีที่แท่นบูชา แต่เมื่อเขาทำงานผิดพลาดก็ถูกไล่ออก ตีโตจึงไม่เข้าโบสถ์อีกเลยและต่อมาประกาศตนเป็นคนไม่มีศาสนา

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ญาติข้างแม่นำตีโตไปทำงานที่ร้านอาหารในเมืองซีซัค (Sisak) เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ที่ห่างจากหมู่บ้านไป ๙๗ กิโลเมตรแต่งานเด็กล้างชามที่น่าเบื่อหน่ายทำให้ตีโตลาออกและไปขอฝึกงานเป็นช่างเครื่องที่อู่รถโดยบิดาต้องเดินทางมาลงนามในสัญญารับรอง ช่วงทำงานเป็นเด็กฝึกงานตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น เขาไปเรียนภาคค่ำระหว่าง ๕ โมงเย็นถึง ๑ ทุ่มที่โรงเรียนช่างเทคนิคในเมืองสัปดาห์ละ ๒ วัน ตีโตชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือแปลแนวสืบสวนและการผจญภัยเขาผ่านการฝึกอบรมเป็นช่างเครื่องใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ขณะอายุได้ ๑๘ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๓ เขาทำงานในโรงงานหลายแห่งและเปลี่ยนงานบ่อยจนท้ายที่สุดถูกเกณฑ์เป็นทหารสังกัดกองทัพออสเตรีย-ฮังการีในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๓ ต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ตีโตซึ่งติดยศสิบเอก ในกองพันโดโมบรันที่ ๒๕ (The 25ᵗʰ Domobran Regiment) ถูกส่งไปรบกับกองทัพรัสเซียในแนวรบแถบคาร์เพเทียน (Carpathian) และกาลิเซีย (Galicia)* ตามลำดับ เขาปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญและได้รับการสนับสนุนให้ได้รับเหรียญกล้าหาญแต่ยังไม่ทันจะได้รับมอบเหรียญอย่างเป็นทางการกองทัพรัสเซียบุกโจมตีกองทหารออสเตรีย-ฮังการี อย่างหนักจนพ่ายแพ้เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ตีโตถูกแทงบาดเจ็บสาหัสและถูกจับเป็นเชลย

 ตีโตพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารในรัสเซียรวม ๑๓ เดือน จากนั้นเขาถูกส่งไปทำงานที่ค่ายเชลยที่เมืองเปียร์ม (Perm) แถบเทือกเขายูรัลโดยทำงานซ่อมบำรุงรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* หมดอำนาจ ข่าวการปฏิวัติที่มาถึงมีส่วนทำให้คนงานในค่ายเชลยลุกฮือก่อกบฏเพื่ออิสรภาพ ตีโตได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนวิศวกรชาวโปลให้หลบหนีขึ้นรถบรรทุกสินค้าโดยซ่อนตัวในกองกระสอบข้าวสาลีจนเดินทางถึงกรุงเปโตรกราดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาเข้าร่วมกับกลุ่มบอลเชวิค (Bolsheviks)* และร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Gregori Yevgenyevich Lvov)* เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเฉพาะกาลประกาศกฎอัยการศึกและสั่งจับกุมวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคและแกนนำคนสำคัญอีกหลายคนซึ่งรวมทั้งเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ด้วย รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลโดยอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเจ้าชายลวอฟซึ่งขอลาออก ตีโตหนีไปยังฟินแลนด์แต่ถูกจับก่อนข้ามพรมแดนด้วยข้อสงสัยว่าเป็นบอลเชวิคเขาถูกคุมขังที่ป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล (Peter and Paul) เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ และถูกส่งตัวกลับไปยังค่ายเชลยที่เคยถูกคุมขัง แต่สามารถหลบหนีจากขบวนรถไฟขณะหยุดจอดพักระหว่างทางได้

 ตีโตเดินทางไปยังเมืองออมสค์ (Omsk) ในไซบีเรียเพื่อหาโอกาสหนีกลับไปยังยูโกสลาเวียเมื่อเขามาถึงเมืองออมสค์ในกลางเดือนตุลาคมก็ทราบข่าวเรื่องการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* เขาจึงเข้าร่วมกับหน่วยเรดการ์ด บอลเชวิค (Bolshevik Red Guards) และทำงานดูแลเส้นทางรถไฟใกล้เมืองออมสค์ตลอดช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๗–๑๙๑๘ เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* กองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีพลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์คอลชาค (Alexander Kolchak)* เป็นผู้บังคับบัญชาได้เข้ายึดเมืองออมสค์ ตีโตซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากชาวรัสเซียที่สนับสนุนบอลเชวิคหนีไปซ่อนตัวในเขตชนบท เขาได้รู้จักกับเปลาเจีย เบลูโซวา (Pelagija Belousova) สาวรุ่นวัย ๑๖ ปี บุตรสาวของครอบครัวที่ช่วยเหลือให้ที่ซ่อนตัวซึ่งต่อมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติตามไล่ล่าพวกบอลเชวิค ตีโตต้องหลบหนีอีกครั้งไปอยู่กับพวกเร่ร่อนเผ่าคีร์กิซ (Khirgiz) กลุ่มหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือน ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพแดง (Red Army)* สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของไซบีเรียกลับคืนได้ ตีโตในวัย ๒๘ ปีจึงกลับมาเมืองออมสค์และได้พบเบลูโซวาอีกครั้งโดยบังเอิญขณะเดินอยู่ในหมู่บ้าน คนทั้งสองแต่งงานกันในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ หลังแต่งงานไม่นานนักตีโตพาภริยากลับไปบ้านเกิดในโครเอเชีย

 เมื่อตีโตกลับถึงแผ่นดินเกิดในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาพบว่ามารดาเสียชีวิตและโครเอเชียเข้ารวมกับเซอร์เบียและสโลวีเนียสถาปนาเป็นราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of Serbs, Croats and Slovenes)* โดยมีพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I) แห่งราชวงศ์คาราจอร์เจวิช (Karageorgević)* เป็นประมุข ชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่พยายามกีดกันชาวโครแอตไม่ให้มีอำนาจและบทบาททางการเมืองและนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างชาวโครแอตกับชาวเซิร์บ ตีโตไม่ได้สนใจปัญหาการเมืองและสังคมในขณะนั้นเท่าใดนัก เพราะต้องดิ้นรนขวนขวายหางานทำในเมืองซาเกรบ (Zagreb) และมีชีวิตที่ยากลำบากเมื่อพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนงานของสหภาพแรงงานต่าง ๆ เข้ารวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย (Communist Party of Yugoslavia) ในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ ตีโตซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพช่างเหล็กได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โดยอัตโนมัติ เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคในการชุมนุมเดินขบวน และช่วยหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งกล่าวคำปราศรัย เมื่อมีการจัดการชุมนุมเฉลิมฉลองการปฏิวัติเดือนตุลาคมของรัสเซีย ตีโตซึ่งเคยมีประสบการณ์ในรัสเซียจะบอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวชุมนุมของกรรมกรรัสเซีย และมักจบคำปราศรัยว่ากรรมกรจะมีชัยชนะในการต่อสู้ก็ด้วยการลุกฮือขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้น การที่พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเป็นที่นิยมของประชาชนและมักมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศจนกลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ ๓ ในรัฐสภา รัฐบาลกลางซึ่งเป็นนักการเมืองชาวเซิร์บจึงหวาดวิตกและหาทางกวาดล้าง เมื่อคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงลอบสังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในต้น เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ รัฐบาลจึงออกกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์และกวาดล้างอย่างเด็ดขาดตีโตถูกจับกุมแต่มีหลักฐานไม่เพียงพอและได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

 หลังได้รับการปล่อยตัว ตีโตไปทำงานเป็นช่างเครื่องโรงสีที่หมู่บ้านเวลีโคทรอยสต์โว (Veliko Trojstvo) นอกเมืองซาเกรบ ตลอดช่วงเวลาเกือบ ๔ ปีเศษ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑–๑๙๒๕ ตีโตมีชีวิตครอบครัวที่สงบสุข ภริยาให้กำเนิดบุตร ๔ คน แต่เสียชีวิตในวัยเยาว์ ๓ คน และเหลือรอดเพียงบุตรชายคนที่ ๓ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ชีวิตที่สงบเงียบของตีโตเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่ออดีตเพื่อนทหารที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาเยี่ยมเยือนและชักจูงเขาให้เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ ตีโตซึ่งเบื่อหน่ายชีวิตเงียบ ๆ และงานที่ไม่มีทางก้าวหน้าจึงเข้าร่วมเป็นผู้ปฏิบัติงานพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาไปทำงานที่อู่ต่อเรือเมืองท่าคราเลียวีตซา (Kraljevica) เพื่อจัดตั้งกรรมกรและหาสมาชิก แต่ทำงานได้ไม่ถึงปีก็ถูกไล่ออกเพราะเขาปลุกระดมคนงานให้ชุมนุมประท้วง เขาได้งานใหม่ที่โรงงานหล่อล้อเลื่อนรถไฟที่ตั้งอยู่ที่สเมเดเรฟสกาพาลังกา (Smederevska Palanka) ใกล้กรุงเบลเกรด (Belgrade) แต่ทำได้เพียงสั้น ๆ ก็ถูกไล่ออกอีกจากการพยายามปลุกระดมคนงาน ตีโตจึงไปหางานทำที่เมืองซาเกรบและต่อมาได้เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานโลหะแห่งโครเอเชีย (Metal Workers’ Union of Croatia) ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาถูกจับด้วยข้อหาเผยแพร่เอกสารคอมมิวนิสต์และถูกตัดสินจำคุก ๗ เดือน ในช่วงที่เขาได้รับการประกันตัวเขาก็หลบหนีไป

 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๘ ตีโตซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียสาขาซาเกรบ จัดประชุมลับกรรมการพรรคแห่งซาเกรบขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคระหว่างกลุ่มปีกขวากับกลุ่มปีกซ้ายเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ กลุ่มปีกขวาเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างชนชาติต่าง ๆ จะแก้ไขได้ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยมและให้สิทธิการปกครองตนเองแก่ชนชาติต่าง ๆ ทั้งให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมายเพื่อต่อสู้ในระบอบรัฐสภา ส่วนกลุ่มปีกซ้ายต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติต่าง ๆ ด้วยการให้สิทธิแยกตัวออกและให้ใช้แนวทางก่อการร้ายและวิธีรุนแรงต่อสู้กับรัฐบาล ความขัดแย้งทางความคิดดังกล่าวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียอ่อนแอและแม้องค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* พยายามประสานความขัดแย้งแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ตีโตเรียกร้องให้ยุติการแตกแยกเป็นก๊กเป็นฝ่ายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของการเคลื่อนไหวและเพื่อความเข้มแข็งของพรรค เขาส่งรายงานการประชุมครั้งนี้ไปยังองค์การโคมินเทิร์นซึ่งทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ทั้งมีบทบาทเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย ความเป็นผู้นำของเขาโดดเด่นมากขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมด้วยสาเหตุทางการเมือง คือ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘ สตีเวน (สเตปัน) ราดิช [Stephen (Stjepan) Radić]* ผู้นำพรรคชาวนาซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่และสำคัญของโครเอเชียถูกยิงพร้อมนักการเมืองชาวโครแอตอีก ๒ คน ในสภาผู้แทนราษฎร และเขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ชาวโครแอตจึงชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกลางอย่างรุนแรงและจัดตั้งรัฐสภาของตนเองขึ้นที่เมืองซาเกรบทั้งปฏิเสธที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ตีโตเห็นเป็นโอกาสปลุกระดมให้โค่นล้มรัฐบาล แต่รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด เขาถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุก ๕ ปี

 หลังรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญยุบสภา และยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ และทรงบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ต่อมา ในต้นเดือนตุลาคม ทรงเปลี่ยนชื่อราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน เป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia) ซึ่งหมายถึง ประเทศของชาวสลาฟใต้รัฐบาลยังปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์หรือผู้ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด ตีโตซึ่งถูกคุมขังจึงโชคดีที่รอดชีวิต และคุกคือโรงเรียนการเมืองที่ดีสำหรับเขา เพราะตีโตมีโอกาสติดต่อรู้จักกับเพื่อนนักโทษการเมืองหลายพวกหลายเหล่าที่มีภูมิปัญญาแตกต่างหรือใกล้เคียงกัน เขาได้พบและสนิทกับ โมชา ปีเจด (Moša Pijade)* ปัญญาชนชาวยิวคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ปีเจดซึ่งสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสและออสเตรียมีความรอบรู้ด้านวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางและเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พรรค เขาถ่ายทอดประสบการณ์และชี้แนะให้ตีโตได้เรียนรู้และเข้าใจลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxist-Leninist) มากขึ้น มิตรภาพของคนทั้งสองยืนยาวตลอดชีวิต และในเวลาต่อมาปีเจดมีส่วนสนับสนุนตีโตให้ก้าวหน้าในองค์การพรรคและให้เป็นที่ยอมรับขององค์การโคมินเทิร์น นอกจากนี้ ตีโตยังมีโอกาสอ่านงานนิพนธ์ของนักปฏิวัติคนสำคัญ ๆ ในขบวนการสังคมนิยมที่ถูกลักลอบนำมาเผยแพร่ในคุก เช่น งานเขียนของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci)* โรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* ในช่วงที่ตีโตติดคุก โคมินเทิร์นได้ช่วยเหลือภริยาและบุตรชายเขาให้ไปพักอาศัยอยู่ที่กรุงมอสโก ในเวลาต่อมาภริยาของตีโตพบรักใหม่กับชาวรัสเซียและแยกทางกับเขาใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ทั้งพาบุตรชายไปอยู่กับครอบครัวใหม่ด้วย

 ตีโตได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ก่อนครบรอบวันเกิดปีที่ ๔๒ ได้ไม่กี่สัปดาห์จากนั้นคณะกรรมการกลางพรรคสาขาซาเกรบส่งเขาไปกรุงเวียนนาเพื่อติดต่อประสานงานกับคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งจัดตั้งสำนักงานที่นั่น เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย ตำแหน่งดังกล่าวทำให้ตีโตได้ทำงานนอกประเทศและปฏิบัติงานตามคำสั่งของโคมินเทิร์น รวมทั้งได้ควบคุมคณะกรรมการกลางพรรคสาขาซาเกรบตีโตจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นและมักลอบเดินทางเข้าออกระหว่างยูโกสลาเวียกับกรุงเวียนนาบ่อยครั้ง เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของนโยบายการเคลื่อนไหวต่อสู้ ในช่วงปฏิบัติงานนอกประเทศนี้ เขาใช้นามแฝงหรือชื่อจัดตั้งว่า “ตีโต” ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อตัวที่รู้จักกันดีทั่วไป ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๕ ตีโตถูกส่งไปกรุงมอสโกเพื่อฝึกงานในแผนกเลขาธิการบอลข่านของโคมินเทิร์น (Balkan Secretariat Section of Comintern) ที่มอสโกเขาใช้ชื่อว่า “วอลเตอร์” (Walter) ความเป็นคนเอาการเอางานขยันขันแข็งทำงานหนักและสงบปากสงบคำมีส่วนทำให้ตีโตในเวลาต่อมาสนิทกับเกออร์กี ดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov)* เลขาธิการโคมินเทิร์น (ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๔๓) ชาวบัลแกเรียซึ่งสนับสนุนเขาให้เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตรวมทั้งสมาชิกหน่วยตำรวจลับเคจีบี (KGB)* ด้วย

 ในช่วงที่ตีโตพักอยู่ที่สหภาพโซเวียต เขาพบรักกับลูเซีย เบาเออร์ (Lucia Bauer) สหายชาวออสเตรียและแต่งงานกันในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลาสั้น ๆ และแยกทางกันเมื่อตีโตเดินทางกลับไปยูโกสลาเวีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๗ มีการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ระลอกใหญ่ในยูโกสลาเวีย มิลาน กอร์คิช (Milan Gorkić) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้เกิดการกวาดล้าง และเขายังพยายามดำเนินนโยบายอิสระโดยไม่ยอมรับการชี้นำของโคมินเทิร์น ทั้งสร้างปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแต่กอร์คิชซึ่งมีเส้นสายในองค์การโคมินเทิร์นสามารถปกป้องตนเองและรักษาอำนาจการนำของเขาไว้ได้อย่างไรก็ตาม โคมินเทิร์นมีมติให้ก่อตั้งพรรคขึ้นใหม่โดยให้มีคณะกรรมการกลางอยู่นอกประเทศ ตีโตซึ่งได้รับเลือกเป็นเลขาธิการฝ่ายจัดตั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการกลางอยู่ภายในประเทศ ท้ายที่สุดตกลงกันได้ว่าให้แบ่งคณะกรรมการกลางเป็น ๒ ชุด ส่วนที่อยู่ใต้การนำของตีโตจะทำงานภายในประเทศโดยตีโตจะมีอำนาจควบคุมการบริหารงานของคณะกรรมการกลางในประเทศให้เป็นไปตามนโยบายของโคมินเทิร์นทั้งสามารถขับสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางพรรคออกจากความเป็นสมาชิกพรรคได้ นอกจากนี้ ตีโตยังได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่สำคัญในทางสากลด้วยการระดมกำลังอาสาสมัครชาวต่างประเทศโดยเฉพาะจากยูโกสลาเวียไปร่วมรบในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๙)* เพื่อต่อต้านนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ที่ทั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* แห่งอิตาลีสนับสนุน อาสาสมัครชาวยูโกสลาฟที่เดินทางไปสเปน มี ๑,๕๐๐ คน และในจำนวนดังกล่าวเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประมาณ ๕๖๐ คน ตีโตต้องการเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วย แต่โคมินเทิร์นไม่อนุญาต

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๗ ตีโตเริ่มต้นสร้างองค์การพรรคขึ้นใหม่ภายในยูโกสลาเวีย เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อติดต่อกับสมาชิกพรรคที่เขารู้จักและกับแนวร่วมกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งสหภาพแรงงานเขารับสมัครสมาชิกใหม่อย่างระมัดระวังเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่เข้ารับช่วงการดำเนินงานภายในองค์การจัดตั้งของพรรค คุณสมบัติพื้นฐานที่ตีโตเน้นคือความจงรักภักดีต่อเขาในฐานะเลขาธิการ การยอมรับคำสั่งการใช้ความฉลาดและไหวพริบในการปฏิบัติตามคำสั่งและความสามารถในการทำงานเป็นชุดปฏิบัติการสมาชิกใหม่ที่โดดเด่นมีหลายคน เช่น มีโลวัน ดีลัส (Milovan Djilas)* ปัญญาชนชาวมอนเตเนโกรบอริส คีดริตช์ (Boris Kidrič)* ชาวสโลวีเนียเอดวาร์ด คาร์เดล (Edward Kardel)* บุคคลเหล่านี้ในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในขบวนการคอมมิวนิสต์ในยูโกสลาเวีย ในช่วงที่ตีโตกำลังสร้างองค์การพรรคและรับสมัครสมาชิกนั้น ในสหภาพโซเวียตเป็นช่วงการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ซึ่งสืบเนื่องจากการลอบสังหารเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดกอร์คิชเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียประจำโคมินเทิร์นถูกจับกุมและถูกฆ่าด้วย ตีโตจึงได้รับแต่งตั้งจากโคมินเทิร์นให้รักษาการเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๘ และดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในต้น ค.ศ. ๑๙๓๙

 เมื่อฮิตเลอร์ดำเนินการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ตีโตเห็นว่าเยอรมนีมีแผนจะรุกรานยูโกสลาเวียในวันข้างหน้า เขาเขียนแถลงการณ์ประณามการยึดครองออสเตรีย และเรียกร้องให้สมาชิกพรรคเร่งปรับองค์การพรรคให้เข้มแข็ง ทั้งเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววันการคาดการณ์ของตีโตปรากฏเป็นจริงขึ้นเพราะต่อมาเยอรมนีได้ละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ด้วยการยึดครองเชโกสโลวะเกียซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* และหันมาต่อต้านเยอรมนี นอกจากนี้ เยอรมนียังร่วมลงนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ หนึ่งสัปดาห์หลังการลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต เยอรมนีก็ใช้ยุทธวิธีการทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* บุกโจมตีโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ขึ้น

 ตีโตพยายามหน่วงเหนี่ยวเวลาไม่ให้พลพรรคคอมมิวนิสต์รับรู้ข้อตกลง ค.ศ. ๑๙๓๙ ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต เพราะเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่จะสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกพรรคซึ่งถูกสอนให้เกลียดชังลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และลัทธินาซี (Nazism)* เขาเร่งรัดเรื่องการจัดตั้งองค์การพรรคและเครือข่ายใต้ดินให้มั่นคง และตั้งหน่วยคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศที่มีข่ายการติดต่อกับศูนย์กลางพรรคที่ซาเกรบ รวมทั้งมอบหมายให้แกนนำที่เขาไว้วางใจรับผิดชอบในองค์การจัดตั้งต่าง ๆ ทั่วประเทศในกรณีที่เขาถูกเรียกตัวไปมอสโกในกลางค.ศ. ๑๙๓๘ เขากลับไปสหภาพโซเวียตและได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานในสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศเพื่อช่วยคอมมิวนิสต์ชาวยูโกสลาฟแปลหนังสือประวัติศาสตร์ของพรรคบอลเชวิคที่สตาลินเขียนเป็นภาษาเซิร์บ-โครแอต ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาเดินทางกลับไปยูโกสลาเวียเพื่อเตรียมต่อต้านการรุกรานของเยอรมนีที่จะมีขึ้น และตั้งเป้าหมายว่าในกรณีเกิดสงครามพรรคคอมมิวนิสต์จะพยายามก่อการปฏิวัติยึดอำนาจตามแบบอย่างที่เคยเกิดขึ้นในรัสเซีย ทั้งคาดหวังว่าหากปฏิวัติได้สำเร็จ สหภาพโซเวียตจะช่วยเหลือสนับสนุนการสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม ในปีเดียวกัน เขาแต่งงานกับแฮร์ทา ฮาส (Herta Haas) สหายร่วมอุดมการณ์ซึ่งให้กำเนิดบุตรชายใน ค.ศ. ๑๙๔๑ อย่างไรก็ตาม ตีโตก็มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น ๆ อีกหลายคนซึ่งรวมทั้งเลขานุการส่วนตัวแฮร์ทาจึงหย่ากับเขาใน ค.ศ. ๑๙๔๓

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ตีโตผลักดันการจัดประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๕ ขึ้นที่ซาเกรบ ระหว่างวันที่ ๑๙–๒๓ ตุลาคม เพื่อสร้างความสามัคคีของผู้แทนพรรคท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เคยแตกแยกกัน และกำหนดแนวทางพรรคด้านนโยบายต่างประเทศรวมทั้งกำหนดพันธกิจปฏิบัติการลับใต้ดินการประชุมใหญ่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากและเป็นการเริ่มต้นใหม่ครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่มีเอกภาพและเป็นอิสระ ตีโตก็ได้รับการยอมรับจากสมาชิกพรรคชนชาติต่างๆว่าเขาคือผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่แท้จริง มติสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การสนับสนุนสมาชิกพรรคเข้าประจำการในกองทัพเพื่อจะได้รับการฝึกอบรมทางทหารและเพื่อหาทางให้กองทัพสนับสนุนพรรคในกรณีที่เกิดการปฏิวัติหรือการก่อกบฏ

 เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปได้จึงเริ่มยุทธการใหม่ด้วยการโจมตีอังกฤษและนำไปสู่ยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* อิตาลีก็เห็นเป็นโอกาสบุกโจมตีกรีซในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ แต่ล้มเหลวที่จะยึดครอง เพราะอังกฤษสนับสนุนกรีซอย่างเต็มที่และเรียกร้องให้ยูโกสลาเวียเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรตะวันตก เยอรมนีซึ่งยึดครองโรมาเนียและบัลแกเรียได้ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงกดดันยูโกสลาเวียให้เข้าร่วมกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact)* เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เพราะเยอรมนีซึ่งมีแผนบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายนตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* ต้องการหลีกเลี่ยงการสู้รบในคาบสมุทรบอลข่าน อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามได้เพียง ๒ วัน กองทัพอากาศยูโกสลาฟซึ่งอังกฤษให้การสนับสนุนก็ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้นพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย

 ฮิตเลอร์โกรธแค้นเรื่องการเกิดรัฐประหารอย่างมากและสั่งให้บุกยูโกสลาเวียโดยเร็ว ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ กองทัพเยอรมันซึ่งตั้งมั่นอยู่ในฮังการีและบัลแกเรียจึงเคลื่อนกำลังบุกยูโกสลาเวียด้วยสงครามสายฟ้าแลบ และในเวลาเดียวกันอิตาลีก็ร่วมบุกโจมตีด้านชายฝั่งทะเลเอเดรียติก ภายในสัปดาห์เดียว เยอรมนีสามารถครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูโกสลาเวีย และอิตาลีได้ยึดครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลและดินแดนตอนในจากฝั่งทะเลเอเดรียติกพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ (Peter II)* และคณะรัฐบาลต่างลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังยูโกสลาเวียยอมแพ้เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองด้วยการแบ่งยูโกสลาเวียเป็น ๑๐ เขตการปกครอง และแบ่งกันปกครองกับอิตาลีบัลแกเรีย และฮังการี เยอรมนียึดครองดินแดน ๒ ใน ๓ ของสโลวีเนียและส่วนใหญ่ของเซอร์เบีย อิตาลีได้ส่วนหนึ่งของชายฝั่งดัลเมเชีย (Dalmatia) และเกาะต่าง ๆ รวมทั้งมอนเตเนโกรและบางส่วนของคอซอวอ-เมโตฮียา (Kosovo-Metohija) บัลแกเรียได้ครอบครองเซอร์เบียตอนใต้และบางส่วนของมาซิโดเนีย ฮังการีได้บัตช์กา (Bačka) บารันยา (Baranja) เมดยูมูเรีย (Medjumurje) และเปรโกมูเรีย (Prekomurje) อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างดินแดนที่ถูกยึดครองมีส่วนทำให้ประเทศที่ยึดครองมีปัญหาขัดแย้งกันในเวลาต่อมาและส่งผลให้การควบคุมของเยอรมนีอ่อนแอลง ตีโตจึงใช้ประโยชน์จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวปลุกจิตสำนึกของชนกลุ่มน้อยในภูมิภาค ต่าง ๆ ให้ร่วมกันต่อต้านนาซี นอกจากนี้ ในช่วงที่เยอรมนียึดครองยูโกสลาเวีย ชาวโครแอตก็เห็นเป็นโอกาสประกาศจัดตั้งประเทศเป็นเอกราชโดยมีอันเต ปาเวลิตช์ (Ante Pavelić)* ผู้นำกลุ่มฟาสซิสต์หัวรุนแรงได้เป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งเยอรมนีและอิตาลีก็รับรองความเป็นเอกราชของโครเอเชีย ปาเวลิชซึ่งสนับสนุนฝ่ายอักษะได้กวาดล้างชาวเซิร์บอย่างรุนแรงจนทำให้ชาวโครแอตชาตินิยมและชาวเซิร์บจำนวนไม่น้อยไม่พอใจ ในเวลาต่อมาคนเหล่านี้หันมาร่วมมือกับตีโตโดยเข้าร่วมในกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวีย (Yugoslav Army of National Liberation) เพื่อต่อต้านกองทัพเยอรมันและอิตาลีและระบอบฟาสซิสต์ในโครเอเชีย

 ในช่วงที่เยอรมนีบุกยูโกสลาเวียตีโตได้เตรียมการให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มสะสมอาวุธและให้จัดตั้งกองกำลังกลุ่มเล็ก ๆ ตามหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ เพื่อฝึกใช้อาวุธที่สะสมและรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีรัสเซียด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา ตีโตได้รับคำสั่งจากโคมินเทิร์นให้สู้รบแบบจรยุทธ์หลังแนวรบกองทัพเยอรมันเพื่อสนับสนุนสหภาพโซเวียตและให้ปฏิบัติการต่อสู้สุดกำลัง คำสั่งดังกล่าวคือสิ่งที่ตีโตรอคอยเพราะก่อนหน้านั้นเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อต้านเยอรมนีได้เพราะเยอรมนีและสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรกัน ตีโตเรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน และมีมติให้จัดตั้งกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวียขึ้น เขาออกแถลงการณ์หลายฉบับเรียกร้องให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และประชาชนทุกชนชาติของยูโกสลาเวียผนึกกำลังกันต่อต้านเยอรมนี มีการวางระเบียบพรรคใหม่เพื่อดำเนินสงครามเบ็ดเสร็จด้วยปฏิบัติการกองโจรหลังแนวของข้าศึก และมีมติสำคัญข้อหนึ่งคือหากพื้นที่ใดสามารถกำจัดศัตรูต่างชาติออกไปได้ให้จัดตั้งพื้นที่นั้น ๆ เป็นฐานที่มั่นทางยุทธการและจัดตั้งการปกครองเป็น “เขตปลดแอก” (liberated area) ขึ้น ทั้งให้เผยแพร่ความคิดทางการเมืองแก่ประชาชน ในกรณีที่เขตปลดแอกถูกโจมตีจนกำลังพรรคต้องล่าถอยออกไปก็ให้ประชาชนในท้องที่ซึ่งเชื่อมั่นอุดมการณ์และสนับสนุนพรรคเคลื่อนไหวช่วงชิงเขตปลดแอกดังกล่าวกลับคืน ยุทธวิธีดังกล่าวมีส่วนทำให้ตลอดช่วงการสู้รบในระหว่างสงครามความคิดทางการเมืองที่พรรคเผยแพร่ได้ขยายตัวไปทั่วประเทศและการต่อสู้นาซีของตีโตเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั่วไปกลุ่มผู้ปฏิบัติการสู้รบซึ่งมีพวกคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำจะมีชื่อเรียกกันในเวลาต่อมาว่า พวก “ปาร์ติซาน” (Partisans)

 นอกจากกลุ่มปาร์ติซานของตีโตแล้ว กลุ่มต่อต้านนาซีที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเชตนิก (Chetniks)* ที่มีพันเอก ดรากอลยูบ มีไฮโลวิช (Dragoljub Mihailović)* หรือดราชา (Draža) เป็นผู้นำ กลุ่มเชตนิกเป็นพวกกษัตริย์นิยมที่ประกอบด้วยนายทหารและพลทหารจากกองทัพที่ไม่ยอมวางอาวุธเมื่อครั้งเยอรมนีบุกยูโกสลาเวียและต่างหลบซ่อนในเขตป่าเขาในเซอร์เบีย แม้มีไฮโลวิชเคยผ่านการสู้รบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาก่อน แต่ก็ไม่มีประวัติการทหารที่โดดเด่นและได้ชื่อว่าเป็นนักชาตินิยมเซอร์เบียขวาสุดโต่งเขาเรียกกองกำลังใต้การบัญชาการว่า “หน่วยเชตนิกแห่งกองทัพยูโกสลาฟ” (Chetniks of the Yugoslav Army)และอ้างตนเป็นผู้พิทักษ์และผู้แทนของราชอาณาจักรยูโกสลาฟเดิม เขาเกลียดชังพวกโครแอตและพวกคอมมิวนิสต์ เป้าหมายของเขาคือการสถาปนารัฐเซอร์เบียที่เป็นเอกราชโดยมีชาวเซิร์บเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง และชาวโครแอตและชนชาติอื่น ๆ เป็นพลเมืองชั้นสอง กองกำลังของเขามีประมาณกว่า ๕,๐๐๐ คนและรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มีไฮโลวิชเป็นที่รู้จักในฝ่ายพันธมิตรเพราะเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนกลุ่มเชตนิกมักปฏิบัติการเป็นเอกเทศและบางครั้งก็ร่วมปฏิบัติการกับพวกปาร์ติซานแต่ไม่ยอมสละอำนาจการสั่งการให้แก่กัน และมักซัดทอดกันเมื่อการโจมตีล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างหวาดระแวงกันตลอดจนแย่งชิงทรัพย์สินและพื้นที่ที่ยึดมาได้เมื่อมีชัยชนะ

 ในเดือนกันยายนและตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ตีโตพยายามเจรจากับมีไฮโลวิชถึง ๒ ครั้งเพื่อวางแนวนโยบายร่วมกันในการต่อต้านเยอรมนี แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะมีไฮโลวิชไม่ต้องการตกลงใด ๆ ด้วยเมื่อกลุ่มเชตนิกบุกโจมตีเมืองอูชีเซ (Užice) ที่พวกปาร์ติซานยึดครองได้ แต่ล้มเหลวและนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างเชตนิกกับปาร์ติซานสงครามนี้ดำเนินไปควบคู่กับการปฏิบัติการรบกับเยอรมนีและอิตาลี และบางครั้งก็ปะปนกันกับปฏิบัติการดังกล่าวจนสิ้นสงครามทั้งตีโตและมีไฮโลวิชต่างตระหนักดีว่าผลลัพธ์ของการรบคือปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการชิงอำนาจในยูโกสลาเวียหลังสงครามอย่างไรก็ตามการที่มีไฮโลวิชนิยมเซอร์เบียและต่อต้านโครแอตอย่างรุนแรง รวมทั้งไม่ดำเนินการสู้รบกับเยอรมนีอย่างเด็ดขาด เพราะต้องการประหยัดกำลังไว้ใช้ในตอนปลายสงคราม ทำให้เขาไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทุกส่วนของประเทศ ส่วนตีโตต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศและเพื่อความเสมอภาคของชนชาติส่วนน้อยทุกชนชาติในยูโกสลาเวียเมื่อเวลาผ่านไปเขาก็มีบทบาทเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นตามลำดับ ในต้นเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๔๑ ตีโตสร้างกองพลน้อยที่ ๑ ชนชั้นกรรมาชีพ (First Proletarian Brigade) ขึ้น ประกอบด้วยหน่วยสู้รบอาสาสมัครชาวเซิร์บและมอนเตเนโกร มุ่งจู่โจมข้าศึกในทุกแนวรบ และเป็นกองกำลังสำคัญของพวกปาร์ติซาน

 ในพื้นที่ที่กองพลน้อยและพวกปาร์ติซานยึดครองไว้ได้ ตีโตจะจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่เรียกว่า “คณะกรรมาธิการประชาชน” (People’s Committees) ขึ้นปกครอง ต่อมา ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒ ตีโตจัดประชุมใหญ่ขึ้นที่เมืองบีฮัช (Bihać) ระหว่างวันที่ ๒๖–๒๗ พฤศจิกายนเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้เอาชนะสงคราม มีผู้แทนจากคณะกรรมาธิการประชาชนและผู้รักชาติที่สนับสนุนแนวทางของตีโตจากดินแดนส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้ซึ่งเรียกว่า สภาต่อต้านฟาสซิสต์แห่งชาติเพื่อปลดปล่อยยูโกสลาเวีย (Anti-Fascist Council for the National Liberation of Yugoslavia–AVNOJ) ได้วางกรอบนโยบายการสร้างประเทศหลังสงคราม และอีก ๒ วันต่อมา มีการจัดประชุมอีกครั้งที่เมืองไยเซ (Jajce) ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อย (National Committees of Liberation) ขึ้นประกอบด้วยสมาชิก ๙ คนซึ่ง ๕ คนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำหน้าที่เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลของผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ตีโตได้รับเลือกเป็นประธานของคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อย

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่อกองกำลังผสมอังกฤษ-อเมริกันยกพลขึ้นบกในแอฟริกาตอนเหนือและเปิดฉากการรุกตีโต้ข้าศึกเป็นครั้งแรกซึ่งนำไปสู่การรบที่ดุเดือดและสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายพันธมิตรและเยอรมนีในยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน (Battle of El Alamein)* อียิปต์ กองทัพเยอรมันใต้การบัญชาการของจอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* พ่ายแพ้ต่ออังกฤษอย่างยับเยิน กองทัพเยอรมัน-อิตาลีเริ่มถอยร่นออกจากแอฟริกาเหนือชัยชนะของพันธมิตรเปิดทางให้เริ่มยุทธการครั้งใหม่ในภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งครอบคลุมภูมิภาคบอลข่านด้วย เพราะอาณาเขตของยูโกสลาเวียคร่อมทางคมนาคมของกองทัพเยอรมันที่ผ่านภูมิภาคบอลข่านและเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการควบคุมฝั่งตะวันตกของทะเลเอเดรียติก ฝ่ายพันธมิตรเริ่มเห็นความสำคัญของขบวนการต่อต้านของตีโตเนื่องจากตระหนักว่ากลุ่มเชตนิกของมีไฮโลวิชไม่อาจไว้วางใจได้ เพราะหน่วยข่าวกรองของอังกฤษรายงานว่า นับแต่ ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นต้นมา มีไฮโลวิชไม่ได้ต่อต้านเยอรมนีอย่างจริงจัง ทั้งติดต่อกับทหารเยอรมันบางส่วนที่ยึดครองประเทศเพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับฝ่ายตีโต ขณะเดียวกันในปฏิบัติการรบหลายครั้งฝ่ายเชตนิกยังต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอิตาลีด้วย ฝ่ายพันธมิตรจึงหาทางติดต่อกับตีโตและเริ่มลดการสนับสนุนด้านเสบียงและยุทโธปกรณ์แก่กลุ่มของมีไฮโลวิชเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดเลิกรับรองฝ่ายมีไฮโลวิชอย่างสิ้นเชิงในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๔

 ข่าวการเตรียมบุกบอลข่านของฝ่ายพันธมิตรทำให้เยอรมนีตัดสินใจทุ่มกำลังกวาดล้างพวกปาร์ติซานและมุ่งกำจัดตีโต พวกปาร์ติซานต้องสู้พลางถอยพลางอย่างทรหด และสูญเสียชีวิตพลพรรคเป็นจำนวนมาก ตีโตพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์การโคมินเทิร์น แต่ล้มเหลว เพราะในขณะนั้นเยอรมนีระดมกำลังโจมตีสหภาพโซเวียตในยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk ๕ กรกฎาคม–๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* ทำให้สหภาพโซเวียตไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตีโตได้ อย่างไรก็ตามตีโตและกองกำลังของเขาก็สามารถถอยไปตั้งมั่นยังบอสเนียตอนใต้ได้และเริ่มได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธปัจจัยจากอังกฤษมากขึ้นและสม่ำเสมอเมื่ออิตาลีถอนตัวออกจากสงครามในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ พวกปาร์ติซานก็เห็นเป็นโอกาสเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของมอนเตเนโกรและชายฝั่งทะเลดัลเมเชียที่อิตาลีเคยประจำการอยู่ไว้ได้ ทั้งยังได้กำลังเพิ่มจากทหารอิตาลีและเชลยศึกที่อาสาสมัครรบกับเยอรมนีเกือบ ๘,๐๐๐ คน ที่มีชื่อว่า กองพลการีบัลดีซึ่งเป็นชื่อของจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* วีรบุรุษของอิตาลี

 ในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ผู้นำฝ่ายพันธมิตรได้จัดการประชุมที่เตหะราน (Tehran Conference ๒๘ พฤศจิกายน–๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* ขึ้นเพื่อหารือเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่ไคโร (Cairo Conference ๒๒–๒๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓)* ผลสำคัญประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้คือ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* และโจเซฟ สตาลิน ยอมรับสถานภาพความเป็นผู้นำของตีโตและกองกำลังของเขา และให้สนับสนุนช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธสัมภาระแก่พวกปาร์ติซานมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ความช่วยเหลือของประเทศพันธมิตรได้ทำให้กองกำลังของตีโตเข้มแข็งมากขึ้นและการสู้รบก็เปลี่ยนจากสงครามจรยุทธ์มาเป็นสงครามแนวรบในที่สุด ฝ่ายพันธมิตรส่งหน่วยคอมมานโดทางอากาศมายังแนวหลังของข้าศึกเพื่อช่วยเหลือการสู้รบของตีโตในช่วงที่ฝ่ายพันธมิตรหารือกันที่กรุงเตหะราน ตีโตก็เรียกประชุมใหญ่สภาต่อต้านฟาสซิสต์แห่งชาติเพื่อปลดปล่อยยูโกสลาเวียสมัยที่ ๒ขึ้นที่เมืองไยเซ เมืองหลวงเก่าของบอสเนีย ระหว่างวันที่ ๒๙–๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ มีการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยชุดใหม่ขึ้นและตีโตได้รับเลือกเป็นประธาน มติสำคัญประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้คือ การประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นโดยถือเป็นรัฐบาลผู้แทนของประชาชนยูโกสลาฟทั้งหมดที่ชอบธรรมมากกว่ารัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนและห้ามพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ แห่งยูโกสลาเวียและรัฐบาลพลัดถิ่นกลับเข้ายูโกสลาเวีย จนกว่าจะมีการกำหนดระบอบการปกครองของประเทศภายหลังสงครามแล้วแม้ประเทศพันธมิตรจะสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นแต่ก็ไม่คัดค้านตีโตและยังคงยืนยันช่วยเหลือสนับสนุนเขาต่อไป การสนับสนุนของประเทศพันธมิตรส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายพันธมิตรกำลังกังวลกับเรื่องแผนการยกพลขึ้นบกในวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันดี-เดย์ (D-Day)* และทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการให้สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเข้าใจว่าสหภาพโซเวียตสนับสนุนตีโตอยู่เบื้องหลังจึงไม่ต้องการก่อปัญหาขึ้น ตีโตจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบและในเวลาต่อมาเขาเรียกร้องให้รัฐบาลพลัดถิ่นของพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ เข้าร่วมในรัฐบาลของเขา

 ในตอนปลายสงคราม สหภาพโซเวียตซึ่งเข้ามาปลดปล่อยประเทศยุโรปตะวันออกได้ส่งกองทัพแดง (Red Army)* เข้ามาช่วยเหลือตีโตในการขับไล่เยอรมนีออกจากดินแดนยูโกสลาเวียในการปลดปล่อยยูโกสลาเวีย กองกำลังของพวกปาร์ติซานที่มีตีโตเป็นผู้บัญชาการสูงสุดเป็นกำลังหลัก และกองทัพแดงเป็นเพียงกำลังเสริมเท่านั้น หลังการปลดปล่อย พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่มีตีโตเป็นผู้นำจึงเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แรกในยุโรปที่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ด้วยการจัดตั้งและการต่อสู้ของตนเอง สหภาพโซเวียตจึงไม่สามารถควบคุมยูโกสลาเวียได้ง่ายเหมือนประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ตีโตจัดการประชุมขึ้นที่กรุงเบลเกรดและเชิญผู้แทนของรัฐบาลพลัดถิ่นเข้าร่วมด้วยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลใหม่และหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม รัฐบาลเฉพาะกาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่๗มีนาคมสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์และมีนักการเมืองที่มาจากรัฐบาลพลัดถิ่นเพียง ๓ คนที่เข้าร่วมในคณะรัฐบาล และได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรี ตีโตเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสถานภาพของรัฐบาลเฉพาะกาลให้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียบทบาทการเป็นผู้นำและถูกทอนอำนาจผู้แทนจากรัฐบาลพลัดถิ่นทั้ง ๓ คน จึงแทบจะไม่มีบทบาทและอำนาจใด ๆ เพราะฝ่ายคอมมิวนิสต์คุมตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งหมด ทั้ง ๓ คน จึงประท้วงด้วยการลาออกก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕

 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนเสียงสนับสนุนถึงร้อยละ ๙๖ ของผู้มีสิทธิออกเสียง ตีโตซึ่งประชาชนยอมรับว่าเป็นรัฐบุรุษของประเทศได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรลงมติยกเลิกระบอบกษัตริย์และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามแบบสหภาพโซเวียตซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ทั้งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย (Democratic Federal Yugoslavia–DFY) เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย(Federal People’s Republic of Yugoslavia–FPRY) ต่อมาในกลาง ค.ศ. ๑๙๖๓ เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia–SFRY) ประกอบด้วย ๖ รัฐและ ๒ จังหวัดอิสระ คือ เซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย และจังหวัดวอยวอดีนา (Vojvodina) และคอซอวอ (Kosovo)* เซอร์เบียซึ่งเป็นรัฐใหญ่และมีประชากรมากที่สุดจะมีบทบาทและอำนาจในการปกครองมากกว่ารัฐอื่น ๆ รัฐบาลกลางจึงมีชาวเซิร์บเป็นส่วนใหญ่ ในการบริหารปกครองประเทศ ตีโตเริ่มดำเนินการจัดตั้งนารวม (collective farm) และยึดที่ดินและทรัพย์สินส่วนบุคคลของประชาชนที่มีมากจนเกินความจำเป็นมาเป็นของรัฐและมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมตีโตให้มี “การบริหารกิจการด้วยตนเอง” (Selfmanagement) ด้วยการให้กิจการอุตสาหกรรมทุกอย่างรวมทั้งการให้บริการประเภทต่าง ๆ ดำเนินกิจการโดยคนงานของแต่ละกิจการเองโดยรัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด ระบบการบริหารกิจการด้วยตนเองจึงเป็นแนวทางการสร้างสรรค์สังคมนิยมตามแบบยูโกสลาเวียที่แตกต่างจากประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) ตีโตยังสร้างความมั่นคงของการปกครองภายในด้วยการตามล่ามีไฮโลวิชมาดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมมือกับนาซีและทรยศต่อชาติ มีไฮโลวิชถูกจับใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และถูกตัดสินประหารด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕–๑๙๔๘ ตีโตดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและสนับสนุนให้สหภาพโซเวียตจัดตั้งองค์การโคมินฟอร์มหรือสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อเป็นองค์การกลางประสานงานและแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆรวมทั้งสานต่อการดำเนินงานขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ เขายังเห็นด้วยกับอันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhdanov)* นักทฤษฎีการเมืองโซเวียตเรื่องการแบ่งโลกเป็น ๒ ค่ายระหว่างจักรวรรดินิยมกับสังคมนิยมซึ่งต่างห้ำหั่นต่อสู้กันและไม่อาจปรองดองกันได้ ตีโตจึงปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* นอกจากนี้ ตีโตยังให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์กรีซในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War ค.ศ. ๑๙๔๔–๑๙๔๙)* และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียให้ได้อำนาจทางการเมือง

 ตีโตดำเนินนโยบายปกครองยูโกสลาเวียอย่างอิสระโดยไม่ยอมให้สหภาพโซเวียตเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการภายใน ทั้งปฏิเสธนโยบายการวางแผนจากส่วนกลางของสหภาพโซเวียตที่ต้องการให้ยูโกสลาเวียผลิตอาหารและวัตถุดิบให้แก่สหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเขาที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้ประเทศมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตีโตยังต้องการจัดตั้งสมาพันธรัฐบอลข่าน (Balkan Federation)* ขึ้น ประกอบด้วยยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย และแอลเบเนีย และอาจรวมโรมาเนียด้วย สหภาพโซเวียตไม่พอใจอย่างมากเพราะเกรงว่าหากก่อตั้งได้สำเร็จ สมาพันธรัฐบอลข่านจะท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคบอลข่านและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบริวารโซเวียต อื่น ๆ ด้วย สหภาพโซเวียตจึงพยายามทอนอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียและลดบทบาทของตีโตลง แต่ล้มเหลว และนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างตีโตกับสตาลินใน ค.ศ. ๑๙๔๘ สหภาพโซเวียตเริ่มตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับยูโกสลาเวียในต้น ค.ศ. ๑๙๔๘ และในเดือนมีนาคมก็ถอนที่ปรึกษาทางการทหารและพลเรือน และให้ย้ายสำนักงานใหญ่ของโคมินฟอร์มที่กรุงเบลเกรดไปอยู่ที่กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) โรมาเนีย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ โคมินฟอร์มซึ่งจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ มีมติให้ขับพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียออกจากการเป็นสมาชิกและโดดเดี่ยวยูโกสลาเวียทางเศรษฐกิจและการเมืองความแตกแยกระหว่างตีโตกับสตาลินยังนำไปสู่การเริ่มต้นการกวาดล้างของสหภาพโซเวียตเพื่อกำจัดพวกที่นิยมตีโตในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตไม่สามารถควบคุมขบวนการคอมมิวนิสต์สากลได้อีกต่อไป ตีโตก็เริ่มมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในประเทศตะวันตกในฐานะผู้นำคอมมิวนิสต์อิสระที่มีแนวทางสร้างสังคมนิยมด้วยตนเอง

 หลังสหภาพโซเวียตโดดเดี่ยวยูโกสลาเวีย ตีโตหันมาสร้างความสัมพันธ์และรับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกโดยมีเงื่อนไขว่าความช่วยเหลือดังกล่าวต้องไม่มีข้อผูกมัดทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙–๑๙๕๙ อังกฤษและโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและอื่น ๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ได้กู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund–IMF)* และธนาคารโลก ตีโตยังปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วยการจัดทำกติกาสัญญาบอลข่าน (Balkan Pact) ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ กับกรีซและตุรกีซึ่งเป็นประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* เพื่อค้ำประกันความมั่นคงด้านพรมแดนระหว่างกัน เขายังดำเนินนโยบายเป็นกลางในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* และหันไปสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ตีโตในวัย ๕๙ ปีซึ่งยังแข็งแรงและมีรูปร่างหน้าตาที่อ่อนกว่าวัยมาก มีรักใหม่กับโยวันกา บูดีซัฟเยวิช (Jovanka Budisavljević) สหายหญิงชาวเซิร์บวัย ๒๗ ปีที่เคยเป็นพลพรรคของเขาในช่วงสงครามและเธอเคยช่วยชีวิตเขาครั้งหนึ่งในขณะที่ตีโตบาดเจ็บและถูกตามล่า ตีโตมีความสัมพันธ์กับเธอมาก่อนแต่ทั้งคู่ไม่ได้จริงจังต่อกันเพราะตีโตไปผูกพันกับนักร้องโอเปรา แต่ภายหลังก็เลิกรากันไป เมื่อเขาก้าวขึ้นมามีอำนาจและได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ ตีโตกลับไปสานสายสัมพันธ์กับบูดีซัฟเยวิชและแต่งงานกันในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๒ บูดีซัฟเยวิชจึงได้ชื่อว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเพียงคนเดียวของยูโกสลาเวีย ในระยะแรก ๆ เธอไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการงานใด ๆ ของตีโต และทำหน้าที่เพียงร่วมออกงานอย่างเป็นทางการและร่วมเดินทางไปต่างประเทศตลอดจนเลี้ยงดูอะเล็กซานเดอร์บุตรชายของตีโตที่เกิดจากภรรยาคนที่ ๒ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเธออาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตีโตสนับสนุนทหารชาวเซิร์บให้ได้รับตำแหน่งสูงในกองทัพซึ่งสร้างปัญหาให้แก่กองทัพและการเกิดข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารของทหารเซิร์บ ตีโตจึงแยกกันอยู่กับเธอและกักบริเวณให้เธออยู่เฉพาะแต่ในบ้าน จนในท้ายที่สุดเขาก็หย่าขาดจากเธออย่างเป็นทางการหลังตีโตถึงแก่อสัญกรรม บูดีซัฟเยวิชมาร่วมงานรัฐพิธีศพอย่างเป็นทางการในฐานะอดีตสุภาพสตรีหมายเลข ๑ ของประเทศ และต่อมาเธอเรียกร้องที่จะรับมรดกของตีโตแต่ล้มเหลว

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตซึ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ด้วยแนวทางการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับประเทศทุนนิยมและการยอมรับแนวทางอันหลากหลายของการสร้างระบอบสังคมนิยมที่แตกต่างจากสหภาพโซเวียตเดินทางไปเยือนกรุงเบลเกรด เพื่อปรับความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีตีโตซึ่งถูกโดดเดี่ยวจากขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ครุชชอฟหวังว่าการปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้จะทำให้ยูโกสลาเวียกลับเข้าค่ายสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ แต่ตีโตยืนยันการเป็นคอมมิวนิสต์อิสระและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* ทั้งเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตยุบเลิกโคมินฟอร์มซึ่งครุชชอฟก็ยอมรับ บทบาทดังกล่าวมีส่วนเสริมสร้างชื่อเสียงแก่ตีโตทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น ในกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นต้นมา ตีโตสนับสนุนนโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente)* ของสงครามเย็นกับประเทศตะวันตกของสหภาพโซเวียต ทั้งไม่ต่อต้านสหภาพโซเวียตมากนักในเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ค.ศ. ๑๙๕๖ การบุกเชโกสโลวะเกีย ค.ศ. ๑๙๖๘ ในเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* และการส่งกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน ค.ศ. ๑๙๗๙ อย่างไรก็ตามในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ ตีโตได้สร้างสายสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งในเวลานั้นมีปัญหาขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต สัมพันธไมตรีกับจีนดังกล่าวมีส่วนทำให้เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตไม่พอใจและทำให้สัมพันธภาพระหว่าง ๒ ประเทศไม่ราบรื่นเหมือนที่เป็นมา

 ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ตีโตมีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(Non-Aligned Movement) กับผู้นำอียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย และกานา (Ghana) ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ โดยเน้นความเป็นกลางที่ไม่ผูกพันกับมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งไม่ผูกพันกับพันธมิตรใดๆทางการทหารตีโตเป็นเลขาธิการคนแรกของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและเขาผลักดันการจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกของกลุ่มขึ้นที่กรุงเบลเกรดในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ผลสำคัญของการประชุมคือการมีมติให้ต่อต้านนโยบายไม่เป็นธรรมของประเทศมหาอำนาจ เช่น การกีดกันผิว (Apartheid) ลัทธิอาณานิคมใหม่ ตีโตจึงมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในการเมืองระหว่างประเทศระหว่างค.ศ. ๑๙๕๔–๑๙๖๘ เขาเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชียและแอฟริกากว่า ๓๐ ประเทศ และมีโอกาสพบผู้นำสำคัญระดับโลกหลายคน ตีโตนำประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาปรับปรุงยูโกสลาเวียให้เหมาะสมและทันสมัยมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ ยูโกสลาเวียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศแรกที่ยอมให้ชาวต่างชาติทุกประเทศเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีหนังสือประทับตราการเดินทาง

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ตีโตได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๖ (วาระละ ๕ ปี) นโยบายสำคัญของเขาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคณะประธานาธิบดีร่วม (collective presidency) จำนวน ๘ คนซึ่งเลือกผู้แทนมาจาก ๖ สาธารณรัฐ และ ๒ จังหวัดอิสระคณะประธานาธิบดีร่วมจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำโดยเลือกจากผู้แทนของสาธารณรัฐซึ่งหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ และประธานาธิบดีแต่ละสาธารณรัฐในคณะประธานาธิบดีร่วมจะเป็นรองประธานาธิบดีโดยตำแหน่งโดยมีวาระ ๑ ปี สาธารณรัฐและจังหวัดอิสระมีอำนาจการปกครองตนเองมากขึ้น และรัฐบาลกลางจะควบคุมเพียงนโยบายหลักที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน กิจการระหว่างประเทศ การเงินการคลังและการค้าภายใน รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๔ ได้วางพื้นฐานของการปกครองและความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองให้แก่ยูโกสลาเวียในการแก้ปัญหาเรื่องการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างชนชาติต่าง ๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตีโตได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิตเนื่องจากเป็นผู้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและเพื่อตอบแทนคุณความดีที่ช่วยกู้เอกราชของประเทศในช่วงสงคราม

 หลัง ค.ศ. ๑๙๗๔ เป็นต้นมา ตีโตในวัย ๘๒ ปี เริ่มลดบทบาทของเขาลงในการบริหารประเทศและให้อำนาจคณะประธานาธิบดีร่วมทำหน้าที่ปกครองแทนมากขึ้น เขาเดินทางไปเยือนต่างประเทศบ่อยครั้งและชอบทำหน้าที่ต้อนรับการเยือนยูโกสลาเวียของผู้นำประเทศต่าง ๆ แม้ตีโตจะสูงวัยแต่เขาก็ยังคงมีสุขภาพดีและทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงตามเดิม โดยตื่นตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ชงกาแฟกินเอง ๑ ถ้วยตามความเคยชินตั้งแต่หนุ่ม ๆ อ่านหนังสือพิมพ์เสร็จแล้วจึงเริ่มทำงานและแบ่งเวลาพักเป็นช่วง ๆ จนถึงดึก เขาจะเข้านอนตอนเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้นเป็นประจำ ในชีวิตทั่วไป ตีโตชอบแต่งตัวและสะสมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยช่างฝีมือชั้นยอดที่พร้อมจะสวมได้ทุกโอกาสโดยมีหลายสิบตู้ เขาชอบนั่งรถเมอร์ซิเดซเบนซ์ ดื่มวิสกี้เหล้าองุ่นแดงยูโกสลาเวีย และสูบซิการ์อย่างดี ตีโตมีบ้านพักทั้งใหญ่และเล็กกว่า ๓๕ แห่ง แต่บ้านที่เขาชอบมากที่สุดและชอบมาพักผ่อนเป็นประจำคือบ้านพักฤดูร้อนบนเกาะบรียูนี (Brijuni) ซึ่งเป็นเกาะที่สวยงามในทะเลเอเดรียติก สร้างขึ้นอย่างเรียบ ๆ และงดงามบนเนื้อที่ ๑๗๗ ไร่ ซึ่งรวมทั้งสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ด้วย และมักใช้บ้านพักหลังนี้เป็นที่รับรองประมุขของประเทศและบุคคลสำคัญรวมทั้งดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกที่มาเยี่ยมเยือน

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๗๙ ตีโตล้มป่วยและเข้ารับการผ่าตัดขาข้างซ้ายเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตอุดตันในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๐ อาการของเขาดีขึ้นในระยะแรก แต่ต่อมามีโรคแทรกซ้อนหลายโรค ตีโต ในวัย ๘๗ ปีไม่อาจฟื้นตัวและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ ก่อนอายุ ๘๘ ปีเพียง ๓ วัน รัฐบาลจัดงานรัฐพิธีศพเขาอย่างยิ่งใหญ่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นงานรัฐพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปในขณะนั้นมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ๑๒๘ ประเทศจากจำนวน ๑๕๔ ประเทศ เข้าร่วมไว้อาลัยและแสดงความเคารพโดยมีพระประมุข ๔ พระองค์ พระราชวงศ์ ๖ พระองค์ ประธานาธิบดี จาก ๓๒ ประเทศ นายกรัฐมนตรี ๒๒ คน และผู้แทนหรือเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อีกกว่า ๑๐๐ คน นิตยสาร Times ตีพิมพ์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตื้นตันใจที่สุดเท่าที่ยุโรปเคยประสบในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาหลังจากพิธีไว้อาลัยชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ประธานาธิบดีฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๗๐.



คำตั้ง
Tito; Broz, Josip
คำเทียบ
ตีโต; นายยอซีป บรอซ
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาบอลข่าน
- กรัมชี, อันโตนีโอ
- กองทัพแดง
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การบริหารกิจการด้วยตนเอง
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมที่ไคโร
- การประชุมที่เตหะราน
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- การีบัลดี, จูเซปเป
- กาลิเซีย
- เขตปลดแอก
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- ความตกลงมิวนิก
- ความแตกแยกตีโต-สตาลิน
- คอซอวอ
- คาร์เดล, เอดวาร์ด
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- เคจีบี
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- โคมินเทิร์น
- โคมินฟอร์ม
- จดานอฟ, อันเดรย์
- เชตนิก
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ดิมีทรอฟ, เกออร์กี
- ดีลัส, มีโลวัน
- เดอ โกล, ชาร์ล
- ตรอตสกี, เลออน
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นาซี
- บอลเชวิค
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปาเวลิตช์, อันเต
- ปีเจด, โมชา
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- มากซ์, คาร์ล
- มีไฮโลวิช, พันเอก ดรากอลยูบ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน
- ยูโกสลาเวีย
- รอมเมิล, จอมพล แอร์วิน
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลัทธินาซี
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วันดี-เดย์
- สงครามกลางเมืองกรีซ
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สมาพันธรัฐบอลข่าน
- สหประชาชาติ
- สหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย
- สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย
- สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สากลที่ ๓
- สำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เองเงิลส์, ฟรีดริช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1892–1980
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๕–๒๕๒๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-